Thursday, February 22, 2007

การชำระหนี้เงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

การชำระหนี้/การผ่อนผัน
หลักเกณฑ์การชำระหนี้

  1. เ มื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นเวลา 2 ปี ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมคืนให้แก่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ
  2. ผู้กู้ยืมที่กำลังศึกษาอยู่และไม่ได้กู้ยืมเงินติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี และไม่ได้แจ้งสถานภาพการเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้ธนาคารทราบ ถือว่าเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้
  3. ก่อนวันที่ 5 กรกฎาคมของปีที่ครบกำหนดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมจะได้รับหนังสือจากธนาคาร เพื่อแจ้งเงินต้นทั้งหมด จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้งวดแรก ค่าธรรมเนียมการชำระหนี้ รวมทั้งตารางการชำระหนี้ของแต่ละปี ให้ผู้กู้ยืมทราบ
  4. ผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้จะต้องชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของปีที่ครบกำหนดชำระหนี้
  5. ผู้กู้ยืมต้องชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงค้างของปีที่ 1 เป็นต้นไป โดยจะต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี และจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี นับจากวันครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก
  6. ผู้กู้ยืมสามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายปีหรือรายเดือนได้ แต่ระยะเวลารวมกันต้องไม่เกิน 15 ปี
  7. หากผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ยืมจะต้องเสียเบี้ยปรับเฉพาะเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราดังนี้
    • ค้างชำระ 1-12 เดือน เสียเบี้ยปรับร้อยละ 12 ต่อปี
    • ค้างชำระเกิน 12 เดือน เสียเบี้ยปรับร้อยละ 18 ต่อปี
  8. ผู้กู้ยืมอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนถึง กำหนดชำระได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย
มาตรการในการติดตามหนี้ กรณีผู้กู้ค้างชำระ

  1. ส่งจดหมายถึงผู้กู้ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ เพื่อแจ้งภาระหนี้และวิธีการติดต่อขอชำระหนี้ให้ทราบก่อนถึงวันครบกำหนดชำระ
  2. ผู้กู้ที่ยังไม่มีความสามารถชำระกองทุนฯ ให้โอกาสขอผ่อนผันการชำระได้ หากมีเหตุผลสมควรและเข้าเกณฑ์การผ่อนผัน
  3. เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้
    1. เดือนแรกโทรศัพท์เตือนให้มาชำระ
    2. เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 12 โทรศัพท์และส่งจดหมายติดตามทวงถามเป็นระยะๆ
    3. เกิน 12 เดือน หากยังไม่ได้รับการติดต่อชำระหนี้ จะติดตามผู้กู้และผู้ค้ำประกันโดยวิธีออกไปพบตัว (Home Visit)
วิธีนับระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้

ตัวอย่าง ผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาในปีการศึกษา 2545 ผู้กู้ยืมจะครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548


ช่องทางในการชำระหนี้คืน สามารถเลือกช่องทางในการชำระหนี้ได้ 3 วิธี

1. ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคาร
ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้มากกว่าหรือเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระก็ได้
ผู้กู้ยืมจะได้รับใบรับเงินเพื่อกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเก็บไว้เป็นหลักฐาน

2. ชำระโดยการหักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้กู้ยืม
ผู้กู้ยืมจะต้องแจ้งความประสงค์กับธนาคาร ให้หักบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้กู้ยืม ที่เปิดไว้ตอนทำสัญญากู้หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพยที่ผู้กู้ยืมเปิดใหม่ และผู้กู้จะต้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ที่ผู้กู้ยืมเปิดใหม่ และผู้กู้จะต้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก่อนวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี (กรณีชำระหนี้เป็นรายปี) หรือก่อนวันที่ 5 ของทุกเดือน (กรณีชำระหนี้เป็นรายเดือน) ผู้กู้ยืมจะต้องนำบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปรับรายการหักบัญชีที่สาขาและเก็บไว้เป็นหลักฐาน

3. ชำระหนี้ทางตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยฯ ทั่วประเทศ
โดยใช้เลขที่บัตรประชาชนเป็รรหัสทำรายการ การชำระหนี้วิธีนี้ ต้องเก็บสลิป ATM ไว้เป็นหลักฐานด้วย

หมายเหตุ : ในขณะนี้ ธนาคารกรุงไทยได้ทำการปรับปรุงบริการการรับชำระหนี้ทาง ATM ทำให้ไม่สามารถใช้บริการผ่านทางนี้ได้ หากดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางกองทุนฯ จะแจ้งให้ทราบค่ะ

อนึ่ง การให้บริการรับชำระหนี้ทั้ง 3 ช่องทางนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท

วิธีการชำระหนี้

1. การติดต่อชำระหนี้ครั้งแรก ผู้กู้ยืมทุกรายต้องติดต่อแสดงตนในการชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยฯ สาขาใดก็ได้ที่ท่านสะดวกโดยขอให้ผู้กู้ยืมดำเนินการดังนี้
1.1 กรอกหนังสือแสดงตนในการชำระหนี้ (กยศ.201) และเก็บสำเนาไว้เป็นหลักฐาน
1.2 หากผู้กู้ยืมประสงค์จะเปลี่ยนงวดการชำระหนี้จากรายปีเป็นรายเดือนสามารถทำได้ โดยให้ผู้กู้ยืมแจ้งความประสงค์ดังกล่าวกับพนักงานของธนาคาร
1.3 แจ้งจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมประสงค์จะชำระหนี้งวดแรกพร้อมชำระหนี้กับพนักงานของธนาคาร โดยผู้กู้ยืมจะได้รับใบรับเงินเพื่อชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เก็บไว้เป็นหลักฐาน

2. การชำระหนี้ครั้งต่อไป
ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ ได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่งของการชำระหนี้ทั้ง 3 วิธีตามที่กล่าวข้างต้น

การชำระหนี้ก่อนกำหนด

1. ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้คืนกองทุนฯทั้งหมดหรือบางส่วนในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษา หรือช่วงระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีได้โดยผู้กู้ยืมไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
2. กรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่สำเร็จการศึกษา ผู้กู้ยืมสามารถหยุดพักชำระหนี้และสามารถกู้ยืมเงินต่อไปในปีการศึกษาที่เหลือได้

กรณีผู้กู้ยืมศึกษาอยู่ หรือสำเร็จการศึกษาไม่ถึง 2 ปี

1. กรณีที่ผู้กู้ยืมเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว แต่ผู้กู้ยืมกำลังศึกษาอยู่ให้ผู้กู้ยืมนำรายงานสถานภาพการศึกษา (กยศ.204) หรือหนังสือรับรองการเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาที่รับรองสำเนาถูกต้องแล้วไปให้ธนาคารเพื่อชะลอการชำระหนี ้และหากในปีต่อๆ ไป ผู้กู้ยืมยังไม่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษา ให้ผู้กู้ยืมนำเอกสารดังกล่าวไปให้ธนาคารตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็นต้นไป จนกว่าผู้กู้ยืมจะสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษา
2. กรณีที่ผู้กู้ยืมเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว แต่ผู้กู้ยืมดังกล่าวสำเร็จการศึกษาไม่ถึง 2 ปี ให้ผู้กู้ยืมนำหนังสือรับรองการสำเร็จการศึกษาหรือใบปริญญาบัตร หรือใบประกาศนียบัตร หรือรายงานผลการศึกษา (Transcript) ของสถานศึกษาที่รับรองสำเนาถูกต้องแล้วไปให้ธนาคารเพื่อชะลอการชำระหนี้



กรณีการขอผ่อนผันชำระหนี้ ผู้กู้ยืมต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ครบกำหนดชำระหนี้แต่ละงวด หากผู้กู้ยืมยังไม่ชำระและพ้นวันที่ครบกำหนดชำระแล้ว (5 กรกฎาคม ของทุกปี) ถือว่าผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้จะต้องเสียเบี้ยปรับ และถูกติดตามหนี้จนกว่าจะได้รับอนุมัติผ่อนผันชำระหนี้ จึงระงับการติดตามและถือเป็นหนี้ปกติต่อไป

การยกเลิกสัญญาฯ ระหว่างการศึกษา

การยกเลิกสัญญาฯ ระหว่างปีการศึกษา เกิดขึ้นได้ตามความประสงค์ของผู้กู้ยืมเองหรือยกเลิกสัญญาฯ โดยกองทุนฯ เนื่องจากผู้กู้มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องหรือความประพฤติไม่เหมาะสม ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้คืนกองทุนฯ ภายใน 30 วัน หรือภายในเวลาที่ได้ทำความตกลงกับกองทุนฯ โดยผู้กู้ยืมจะติดต่อทำหนังสือยกเลิกและชำระหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 30 วัน ธนาคารจะส่งเรื่องให้กองทุนฯ พิจารณาเป็นรายไป
กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ ถึงแก่ความตายหนี้ตามสัญญากู้ยืมฯ เป็นอันระงับไป ทั้งนี้ทายาทหรือสถาบันต้องส่งสำเนาใบมรณบัติที่รับรองโดยเจ้าหน้าที่ราชการผู้มีอำนาจให้ธนาคารทราบ และกรณีผู้กู้พิการ หรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ให้ขอผ่อนผันจากคณะกรรมการฯ เป็นกรณีๆ ไป

Reference:
http://www.studentloan.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=28&Itemid=145

No comments: